ไม่นานมานี้หนังสือพิมพ์ โกลบอลไทม์ ( Global Times ) สื่อของทางการจีนรายงานข่าวว่า ทางการจีนออกกฎหมายบังคับให้ ลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว
ต้องกลับไปเยี่ยมเยียนดูแลพ่อแม่หรือญาติที่เข้าสู่วัยชราของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะจีนในอดีต ออกนโยบายให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว ทำให้ เกิดปัญหาพ่อแม่ขาดลูกหลานคอยดูแล และเนื่องจากจีนในวันนี้ มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแนวทาง
เสรีนิยม ในอัตราเร่งที่รวดเร็วมาก ทำให้ลูกหลานต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ทิ้งพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ให้อยู่กับบ้านอย่างว้าเหว่ สื่อจีนฉบับหนึ่งรายงานว่าเกษตรกรในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของจีน เลี้ยงดูแม่ของตนเองอย่างทรมานในเล้าหมูที่เน่าเหม็น จนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ
บรรดาชาวเน็ตในจีน ต่างวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับดังกล่าวว่า “ เป็นการเอากฎหมายมาบีบบังคับ ในเรื่องของศีลธรรมที่บังคับกันไม่ได้ ” บางคนวิจารณ์ว่า “ ไม่ใช่ว่าลูกๆไม่อยากกลับไปหาพ่อแม่ แต่เพราะเขามีเวลาจำกัด และต้องทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ต่างเมือง ต่างหาก ”
ข้อน่าสังเกตก็คือ กฎหมายฉบับนี้ยังให้สิทธิ์ ให้อำนาจกับพ่อแม่ในการฟ้องร้องต่อศาล หากลูกๆไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
นี่คือตัวอย่างหนึ่ง
คลิพการพิจารณาคดีในศาลจีนแพร่กระจายอยู่ในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นภาพของแม่กับลูกชาย 3 คน ในศาลแห่งหนึ่ง แม่เป็นฝ่ายโจทก์ ขณะที่ลูกชายทั้งสาม ที่ทอดทิ้งแม่ให้อยู่อย่างเดียวดาย นั่งอยู่ตรงพื้นที่จำเลยต่อหน้าผู้พิพากษา
แม่ให้การต่อศาล ด้วยใบหน้านองน้ำตา
“ ข้าแต่ศาลที่เคารพ ฉันต้องการให้ลูกชายของฉันทั้งสามคน จ่ายค่าเช่าบ้านให้ฉัน ”
ลูกชายคนหนึ่งออกอาการงุนงง พูดขึ้นมาว่า
“ จะเอาค่าเช่าบ้านจากพวกเรา ”
ผู้เป็นแม่สวนคำทันทีว่า
“ ใช่ ! ฉันต้องการค่าเช่า คนละ 9 เดือน ”
ทนายจำเลยสอดแทรกขึ้นมาว่า
“ ที่โจทก์พูด หมายถึงค่าเช่าบ้านอะไร เท่าที่ผมรู้มา ลูกความของผมทั้งสามคนมีบ้านอยู่เป็นหลักเป็นฐานมั่นคง แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยไปเช่าบ้านใครอยู่ตามที่โจทก์ร้อง ”
ผู้เป็นแม่ ชี้นิ้วลงไปที่ท้องของตนเองแล้วพูดอย่างหนักแน่น ประกายตาเอาจริงเอาจังว่า
“ นี่ไง อยู่ที่นี่แหละ พวกเขาทั้งสามคนล้วนอาศัยอยู่ในนี้ เป็นเวลา 9 เดือนเต็มๆ เก้าเดือนเชียวนะ ที่เขาอยู่ที่นี่ ก่อนที่จะคลอดออกมา ” เธอชี้นิ้วลงไปที่ท้องซ้ำอีกหน
ลูกชายทั้งสามคนก้มหน้า ขณะที่ชาวบ้านที่นั่งฟังอยู่ในศาลบางคนร้องไห้ด้วยความสะเทือนใจ ทุกคนรวมศูนย์สายตาไปที่ผู้เป็นแม่
แม่เอ่ยปากถามลูกชายทีละคน
“ ยอมรับหรือไม่ยอมรับ ”
ลูกชายเอ่ยปากพูดทีละคนด้วยสีหน้าเศร้าหมองว่า
“ ยอมรับ ”
แม่ยังพูดต่อว่า
“ สิ่งที่ฉันต้องการ คือค่าเช่าบ้านทั้ง 9 เดือน เขาจะให้เป็นเงินเท่าไร ก็แล้วแต่เขา ฉันเลี้ยงพวกเขาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คิดอยู่อย่างเดียว คือหวังว่า พวกเขาไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่พบภัยพิบัติ ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ฉันคิดอยู่เพียงเท่านี้จริงๆ ”
คลิพดังกล่าวตัดจบเพียงเท่านี้ จึงไม่รู้ผลว่าศาลตัดสินอย่างไร
อันที่จริง ผู้เป็นแม่ไม่ต้องการเงินค่าเช่าอะไร แต่ต้องการเตือนสติลูกทั้งสามให้ระลึกรู้บุญคุณของผู้ให้กำเนิด ในฐานะที่ใช้ท้องแม่ปกป้องคุ้มภัยแทนบ้าน มาคนละ 9 เดือนเต็มๆ
ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่ไหลบ่าท่วมท้นแผ่นดินจีน ทำให้ความสำนึกบุญคุณของพ่อแม่เสื่อมถอยไป ในใจของลูกหลานจีนจำนวนมหาศาล จนรัฐบาลจีนต้องออกกฎหมายทางศีลธรรมออกมาบังคับพลเมืองพร้อมๆกับการรณรงค์เยาวชนจีนให้ย้อนกลับไปปฏิบัติกตัญญุตาธรรม กันทั่วประเทศจีน เราจึงเห็นภาพข่าวเด็กนักเรียนนั่งกับพื้นน้อมกายแสดงความคารวะบรรดาครูที่นั่งบนเก้าอี้
ไม่นานมานี้ สำนักงานกิจการผู้สูงอายุแห่งชาติจีน และสหพันธ์สตรีแห่งชาติจีน ได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติ “ ความกตัญญูต่อพ่อแม่ 24 ประการ ” ฉบับใหม่ขึ้นมา แล้วรณรงค์ให้เป็นการปฏิบัติอย่างกว้างขวางทั่วทั้งแผ่นดินจีน โดยกำหนดอย่างเป็นรูปธรรมว่าต้องปฏิบัติอย่างไร เช่น
- พาคู่รักและลูกกลับไปเยี่ยมพ่อแม่บ่อยๆ
- โทรศัพท์ไปคุยกับพ่อแม่อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- ให้เงินแก่พ่อแม่สำหรับการใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอย่างเพียงพอ
- บอกรักต่อพ่อแม่
- สอนพ่อแม่ให้เล่นอินเตอร์เนทได้
- ทำอาหารให้พ่อแม่ด้วยมือตนเอง
ฯลฯ
ไม่ว่าปราชญ์จีนคนไหนทั้งขงจื่อ เม่งจื่อ เล่าจื่อ ทุกคนล้วนให้คุณค่าต่อกตัญญุตาธรรม จนมีคำพูดจีนที่ถือกันมาแต่โบราณว่า “ ได้ดื่มน้ำแล้วอย่าลืมต้นธาร ” บางสำนวนเขียนว่า “ ได้ดื่มน้ำแล้วอย่าลืมคนขุดบ่อ ”
ประเทศจีนยุคสีเจิ้นผิงที่ก้าวกระโดดใหญ่สู่ความทันสมัย จนทัดเทียมประเทศตะวันตกได้ในวันนี้ กำลังหวนหาและพลิกฟื้นคุณค่าแห่งกตัญญูกตเวทิตาธรรมในอดีต แต่คนรุ่นใหม่บางพวกของประเทศไทย กำลังตั้งข้อรังเกียจ โดยกล่าวหาว่าเป็นปราการทางชนชั้น เป็นความไม่เสมอภาคของมนุษย์ที่จะต้องกำจัดให้สิ้นไป
ติดตามงานเขียนได้ที่ Facebook Page : PRASARN MARUKPITAK PAGE