
เมื่อแรกรู้จัก คุณไขแสง สุกใส ในเย็นวันหนึ่งของปี 2509
“ พี่ไม่มีอาชีพ ทุกวันนี้เป็นเด็กวัด กินนอนอยู่กับท่านพระพิมลธรรมที่กุฏิวัดมหาธาตุ ”
“ การศึกษาของพี่น่ะ เขาเรียกปริญญา BKLY แปลว่า บางขวางลาดยาว ”
เมื่อแนะนำตัวกันอย่างนี้ ทำให้น่าสนใจว่า บุรุษคนนี้เป็นใครมาจากไหน ทำอะไรมา ผู้เขียนจึงได้เรียนรู้ชีวิตของนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่โชกโชน ได้ฟังเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนอิสานต่อต้านญี่ปุ่น สมัยเข้ามาอยู่บนแผ่นดินไทยตอนสงครามมหาเอเซียบูรพา เรื่องของนักสู้อย่าง นายเตียง ศิริขันธ์ ครูครอง จันดาวงศ์ สี่อดีตรัฐมนตรีที่ถูกยิงทิ้ง จิตร ภูมิศักดิ์ เปลื้อง วรรณศรี กุหลาบ สายประดิษฐ์
บทกวีประชาชนชื่อ “ เปิบข้าวทุกคราวคำฯ ” “ ใครคนประชาชนที่ ทระนงในนามไทยฯ ” “ พิชิตเถิด พิชิตข้า ชะตาเอ๋ยฯ ” “ เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง ฤาจึงมุ่งมาศึกษา ” “ เมืองสยามใหญ่กว้างสุด สายตาฯ ” เป็นบทกวีที่พรั่งพรูจากความทรงจำของคุณไขแสง ให้ผู้เขียนได้จดและจำใส่ใจอย่างกระหายรู้
ผู้เขียนจึงไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนสนทนา ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าคุณไขแสงมีบทบาทสำคัญต่อจิตสำนึกทางการเมืองในเวลานั้น ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
6 ตุลาคม 2516 วันที่เพื่อนๆ ในกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 11 คน จาก 28 คน ถูกตำรวจจับ อันเนื่องมาจากการแจกเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่สนามหลวง บางลำพู ประตูน้ำ ในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นับเป็นข้อหาฉกรรจ์ที่คนอย่างผู้เขียนออกจะหวาดผวาเอามาก ๆ
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในจำนวน 17 คน ที่บังเอิญรอดพ้นจากการถูกจับ จึงโทรศัพท์ไปหา ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้ลงชื่อเรียกร้องหมายเลข 4 เป็นเจ้าของบ้านสะพานควาย ซึ่งเป็นที่จัดประชุมร่างคำแถลงของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อ 2-3 เดือนก่อนหน้านั้น
“ ประสารไปหาอาจารย์คึกฤทธิ์ (ปราโมช) สิ ใครๆ ก็เกรงใจอาจารย์ ท่านน่าจะหาหนทางช่วยอะไรได้ ”
คำแนะนำนี้ทำให้ผมตรงดิ่งไปบ้านเลขที่ 19 ซอยสวนพลูทันที อาศัยว่าเคยไปมาหาสู่หลายครั้ง จนนับเป็นศิษย์คนหนึ่ง ประกอบกับแม้ว่า อาจารย์คึกฤทธิ์จะไม่ได้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ให้สัมภาษณ์กับ ปรีดี บุญซื่อ ลงในวารสารกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แจกในวันจับกุม พูดถึงทฤษฎีสองวงกลม คือ วงกลมนอกหมายถึงประชาชน และวงกลมในหมายถึงข้าราชการ ที่อยู่ด้วยกันแต่เหมือนแยกออกจากกัน
“ อาจารย์ครับ พวกเราเดินแจกรัฐธรรมนูญวันนี้ ถูกจับกันไปแล้ว 11 คน ที่ประตูน้ำ ”
ยังไม่ทันพูดจบ ด้วยท่าทีไม่พอใจ เจ้าของบ้านส่งเสียงเข้มดุผู้เขียน
“ คุณจะเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จะใส่ชื่อใครก็ใส่ไป คุณไปเอานายเลียง (ไชยกาล) นายไขแสง (สุกใส) ตำรวจเขาก็จับเอาสิ ”
ยามนั้นจะมีอะไรดีกว่าการไม่โต้ตอบ แต่ก็เอ่ยปากขอคำแนะนำ
“ จะทำอย่างไรดีครับ เมื่อถูกจับกันไปแล้วอย่างนี้ ”
“ คุณไปหาคุณนพพร (บุญยฤทธิ์ – บ.ก.สยามรัฐ) เขาสนิทกับคุณประจวบ สุนทรางกูร (รองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น) ให้เขาคุยดูซิ จะประกันตัวอะไรกันได้ไหม ”
ในเวลานั้นจะคิดอะไรมากไม่ได้ ผู้เขียนตรงดิ่งไปที่ นสพ.สยามรัฐ ถนนราชดำเนิน ทันที เมื่อแจ้งความประสงค์แล้ว คุณนพพร บุญยฤทธิ์ พากเพียรโทรศัพท์ต่อหาคุณประจวบ สุนทรางกูร แต่ก็ไม่เป็นผล
ค่ำแล้ว กะเวลาว่าคุณไขแสง สุกใส คงจะกลับถึงบ้านเช่าที่นนทบุรีแล้ว ผู้เขียนรีบบึ่งไปบ้านหลังนั้น มีผู้เขียนกับคุณไขแสงอยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ราวสามทุ่มเศษ
ด้วยท่าทีอ่อนระโหยโรยแรง ภายใต้อาการหวาดผวา ผู้เขียนเอ่ยปากหารือ
“ เราแจกใบปลิวกันธรรมดา ทำไมต้องถูกจับด้วย ”
ด้วยความไร้เดียงสาทางการเมือง ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามซื่อ ๆเช่นนี้
“ จำไว้นะประสาร ต่อสู้กับเผด็จการก็เป็นอย่างนี้ เป็นสัจธรรม ”
“ อาวุธไม่มี เข็มสักเล่มก็ไม่มี ”
“ เขาถึงเรียกว่าเผด็จการ คือถืออำนาจเป็นใหญ่ กี่ยุคกี่สมัยก็เป็นอย่างนี้ ”
“ แล้วเราต้องยอมจำนนเขาหรือ ”
“ พี่เชื่อว่า น้อง ๆ ต้องถูกปล่อยออกมา ” คุณไขแสงแสดงความมั่นอกมั่นใจ
“ ผมนึกไม่ออกเลยว่า ข้อหาฉกรรจ์แบบนี้ เพื่อนเราจะหลุดออกมาได้ยังไง ”
“ พี่จะหาทางแก้ปัญหาตามวิธีของพี่ เพื่อช่วยน้อง ๆ ที่ถูกจับ ”
“ รัฐบาลเขาจะเล่นงานพี่มั้ย พี่เป็นเจ้าของสำนักงานธรรมรังสี ที่เป็นศูนย์ทำงานของเราอย่างนี้ ”
“ พี่โดนแน่ ๆ แต่อย่าห่วง พี่มีบทเรียนมาแล้ว พี่เป็นพี่เลี้ยงพวกเราในคุกได้อย่างดี ”
“ แปลว่าพี่จะถูกจับด้วย ยังงั้นหรือ ”
“ ยังไม่รู้เหมือนกัน ต้องดูเหตุการณ์อีกซักวันสองวัน แต่ประสารอย่าท้อนะ นี่เป็นบทเรียนที่หนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่มีอะไรได้มาฟรีหรอก ”
“ ผมควรจะทำอย่างไรต่อไป ” ผู้เขียนหารือ
“ลองนึกดูว่ามีใครเป็นเพื่อนเป็นมิตรที่จะช่วยเราได้ ไปหาเขา ขอความเห็นเขาเพื่อช่วยเพื่อนเราออกจากคุก”
ผู้เขียนร่ำลาจากคุณไขแสงด้วยอาการงงๆ เช้าวันรุ่งขึ้นจึงไปพบคุณสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่หอพัก ม.เกษตรศาสตร์ แล้วชวนกันไปหาคุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ ศนท. ที่บ้านแถวถนนบรรทัดทอง มีการประชุม ศนท. วันนั้น แล้วออกแถลงการณ์
คัดค้านการจับกุม
8 ต.ค. หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวตัวไม้ว่า “ ออกหมายจับไขแสง สุกใส ทั่วประเทศ ”
9 ต.ค. เวลา 10.00 น. คุณไขแสง สุกใส ถือแคนอีสานและหิ้วกระเป๋าแพนแอม บรรจุเสื้อผ้าเข้ามอบตัวที่ กองบังคับการตำรวจสันติบาล หนังสือพิมพ์พาดหัวอีกว่า ทางการจะใช้มาตรา 17 ควบคุมตัว นายไขแสง สุกใส
ระหว่างนั่งรอการสอบสวน คุณไขแสง ยังเป่าแคนเพลงอิสาน ไม่มีสะทกสะท้านใจอะไร แถมให้สัมภาษณ์ว่า “ ไม่ได้หวั่นวิตกอะไร ผมจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้น้อง ๆ ที่ถูกจับกุม ”
การมอบตัวครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงคำพูดของคุณไขแสงเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 6 ตุลาฯ ที่ว่าจะหาทางช่วยพวกเรา จะไปเป็นพี่เลี้ยงของพวกเราในคุก
ภาพของคุณไขแสง สุกใส ถือแคนเข้ามอบตัว เป็นภาพแห่งความสะเทือนใจอย่างยิ่ง
ในเวลานั้น มีแต่คาดคิดกันไปว่า เพื่อนเราที่ถูกจับต้องเผชิญชะตาร้ายสถานเดียว อาจถูกประหารชีวิต หรือไม่ก็สิ้นอิสรภาพอย่างยาวนาน คุณไขแสงมีทางเลือกที่จะหนี หรือสู้ หากจะหนีสามารถทำได้โดยง่าย แต่กลับเลือกที่จะสู้ สู้ในที่นี้คือการมอบตัว ด้วยการเผชิญกับความจริง เตรียมตัวพร้อมที่จะถูกสอบสวน ทั้งยังพร้อมที่จะถูกยิงทิ้งเพราะมีประวัติถูกแขวนป้ายคอมมิวนิสต์มาแล้ว
ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน แม้ว่าจะมีการชุมนุมนักศึกษาที่ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ แต่ก็เป็นคนจำนวนยังน้อยนิด ยังไม่แน่ว่าจะมีพลังขึ้นมาหรือเปล่า
คนที่ยอมเอาเสรีภาพ กระทั่งชีวิตของตนเองเข้าสู้กับอำนาจอธรรม
คนที่คิดถึงน้องๆ และเพื่อนๆ ในฐานะนักโทษการเมืองรุ่นพี่ จึงขอเข้าไปเป็นกำลังใจให้นักโทษรุ่นน้อง
คนที่จะตัดช่องน้อยแต่พอตัว เอาตัวรอดปลอดภัยก็ย่อมได้ แต่กลับเลือกทำตรงกันข้าม
คนที่มองเห็นอนาคตการต่อสู้ของประชาชนที่มีความหมายยิ่งใหญ่ต่อประชาธิปไตยของไทย
ถ้าไม่ใช่จิตใจแห่งการต่อสู้ที่เสียสละสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของตนเองเลย จะไม่สามารถตัดสินใจเช่นนั้นได้เลย
และแล้ววันที่ 14 ตุลาคม 2516 เราก็ได้เห็นวีรภาพอันสง่างามของประชาชนเรือนแสน เรือนล้าน ที่หลอมใจเป็นดวงเดียวกันเคลื่อนขบวนสู้รบกับเผด็จการ โดยไม่มีใครเลยที่นึกถึงประโยชน์ส่วนตน
ดุจเดียวกับจิตใจสู้รบของคุณไขแสง สุกใส ที่ได้ตัดสินใจเข้ามอบตัว 5 วัน ก่อนหน้านั้น เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียว ก็ควรค่าแก่การก้มกราบจิตวิญญาณอันสูงส่งของคุณไขแสง สุกใส ไปอย่างไม่อาจลืมเลือนได้ตราบนานเท่านาน