
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนไปงานสังสรรค์เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อครั้งเรียนร่วมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2505 เพื่อนร่วมห้องนั่งติดกันแถมเป็นคนที่มีเลขประจำตัวนักเรียนเป็นลำดับถัดไปจากผู้เขียนชื่อ อุดม ได้ทบทวนความทรงจำครั้งนั้นว่า
“ สารจำได้ไหม วันหนึ่งครูเพียรผจง ครูประจำชั้นของเราต่อว่าเพื่อนๆ โดยหยิบยกเอาสารมาเปรียบเทียบ ”
“ ผมจำไม่ได้เลย ” ผู้เขียนตอบ
“ ครูบอกว่า นักเรียนที่มีบ้านอยู่กรุงเทพฯ หลายคนอยู่ใกล้ๆโรงเรียนนี่แหละ แต่มาโรงเรียนสายเป็นประจำ เธอรู้ไหม ประสารเพื่อนของเธอ บ้านอยู่ถึงนครปฐม แต่เขามาถึงโรงเรียนเช้าก่อนพวกเธอ ”
เพื่อนอีกคนที่นั่งร่วมวงอยู่ด้วยพยักหน้า แสดงอาการยอมรับว่าได้ยินคำพูดนั้นของครู ในขณะที่ผู้เขียน ได้แต่บอกว่า
“ ยังงั้นหรือ ”
จากเรื่องที่ได้ยินนี้ ผู้เขียนได้แง่คิดว่า
1. ความจริงแล้ว การไปถึงโรงเรียนแต่เช้า เป็นสภาพบังคับด้วยเวลาเดินของรถไฟ ไม่ใช่ว่าผู้เขียนเป็นเด็กขยันเป็นพิเศษอะไรเลย เพราะต้องขึ้นรถไฟจากบ้านให้ทันเวลา 6.30 น. ที่รถไฟมาถึงสถานีรถไฟวัด งิ้วราย ซึ่งอยู่ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ถ้าขึ้นไม่ทัน ก็จะตกรถ แล้วไปลงสถานีรถไฟปลายทางที่บางกอกน้อย ต่อรถเมล์สีเขียวสาย 19 บางกอกน้อย – เทเวศร์ ไปลงรถที่ปากคลองตลาด ตีนสะพานพุทธฯ ฝั่งพระนคร แล้วเดินเข้าโรงเรียน จะไปถึงราว 8.00 น.
นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่ถูกบังคับด้วยกำหนดเวลาของรถไฟ ผู้เขียนก็จะยืดเวลานอนและบิดขี้เกียจบนที่นอนได้ราวหนึ่งชั่วโมงก่อนออกจากบ้านไปโรงเรียน
2. ทุกคนต่างมีเรื่องที่จะจดจำเฉพาะตัวแตกต่างกันไป สำหรับผู้เขียนแล้ว คำพูดของครูเพียรผจง 2-3 ประโยคนั้น ไม่อยู่ในสมองเลย ผู้เขียนแน่ใจว่าอุดมไม่ได้มีความสามารถในการจำเหนือกว่าผู้เขียน แต่ทำไมเขาจำได้ดีกว่า
คำตอบ อยู่ที่เนื้อหาที่ครูพูดกระทบใจอุดมมากกว่าผู้เขียน อุดมจึงจำ ขณะที่ผู้เขียนไม่ใส่ใจ การเลือกที่จะจำ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จึงบันทึกอยู่ในสมองได้ดีกว่า
3. ครูเพียรผจง เป็นคนใส่ใจในรายละเอียดของนักเรียน ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน รับรู้ไปถึงการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กแต่ละคน ถึงขั้นสามารถนำมาเป็นคำเตือนสตินักเรียนได้
นี่เป็นความภาคภูมิใจของนักเรียนสวนกุหลาบที่รักเคารพผูกพันกับครูส่วนใหญ่ที่มีเมตตาและมีความเป็นครูมากกว่าครูทั่วๆ ไป ที่เอาแต่สอนแล้วไป โดยไม่สนใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียน
ที่จั่วหัวข้อเขียนว่า “ หนึ่งเป็นสาม ” ก็เพราะเรื่องราวเพียงเรื่องเดียวนั้น ไม่ใช่ให้แง่คิดเพียงมุมเดียว แต่เราสามารถถอดบทเรียนได้อย่างน้อย 3 มิติด้วยกัน /