จริงหรือไม่ว่าใครที่รู้ตัวว่าทำผิดแล้วสำนึกผิด เราอาจเรียกได้ว่าเขาเป็นคนดี
ต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าให้พิจารณา เป็นเรื่องที่คนดีกับคนดีเวียนมาพบกันระหว่างผมคนซื้อกับลุง
คนขาย
“ วันนั้นผมไปซื้อบุหรี่ 70 บาท ผมยื่นแบงค์ร้อยไป ลุงเขาทอนมา 40 บาท
พอผมออกจากร้านไปได้ไม่ไกล ลุงตะโกนเรียกผม ไอ้หนุ่ม เอ็งลืมบุหรี่ เพราะเห็นว่าลุงเป็นคนดี ที่เตือนให้ไปรับบุหรี่ ผมจึงคืนเงินแกไป 10 บาทที่ลุงทอนเกินมา
ลุงเห็นว่าผมนิสัยดีที่คืนเงิน 10 บาทให้ จึงขอบุหรี่ในมือผมคืนไป หยิบบุหรี่มาอีกซอง แล้วบอกว่า ซองนี้เป็นบุหรี่แท้ ซองที่เองเอาไปนั่นน่ะ มันบุหรี่ปลอม
ผมซาบซึ้งในความดีของลุงมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงบอกกับลุงว่า แบงค์ร้อยที่ผมเอาให้ลุงน่ะเป็นแบงค์ปลอม พร้อมกับหยิบแบงค์ร้อยจริงขอแลกคืน
ลุงน้ำตาไหลด้วยความปิติที่เห็นผมไม่โกงลุง จึงบอกว่า ไอ้หนุ่มเอ๊ย เอ็งเป็นคนดีมาก แต่คราวหน้าคราวหลังระวังกระเป๋าตังค์ให้ดีล่ะ เดี๋ยวใครจะล้วงเอาไป ว่าแล้วลุงก็คืนกระเป๋าตังค์ให้ผม
ผมซาบซึ้งน้ำใจลุงยิ่งขึ้นไปอีก จึงส่งคืนสร้อยข้อมือทองให้ลุงแล้วบอกว่า ลุงก็เหมือนกันเดี๋ยวนี้มิจฉาชีพเยอะมาก ลุงต้องระวังของมีค่าให้ดี ไม่งั้นมันจะสูญหายได้ง่าย นี่โชคดีนะลุงที่เราสองคนต่างก็เป็นคนดีเหมือนกัน ”
จบเรื่องเล่า คนดีสองคน ที่ต่างเปิดเผยตัวตนให้เห็น ว่าแต่พฤติกรรมเช่นนี้จะเรียกว่าเป็นพฤติกรรมของคนดีได้หรือไม่ เพราะทั้งสองคนต่างก็ฉ้อฉลต่อกันและกัน นี่คือปัญหาที่น่าวินิจฉัย
ติดตามงานเขียนได้ที่ Facebook Page : PRASARN MARUKPITAK