“ อั๊วไปคนแรก ”
นี่คือคำประกาศอาสากล้าตายที่เฉียบขาดต่อหน้าคณะเสรีไทย ในอังกฤษของ นายเข้ม เย็นยิ่ง
หรือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี 2485
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยแบบสายฟ้าแลบ เมื่อ 8 ธันวาคม 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้รับคำขาดจากญี่ปุ่นให้ไทยยอมจำนนและเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น เพื่อต่อสู้กับฝ่ายพันธมิตร คนไทยในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาถูกเรียกตัวกลับหมด ใครไม่กลับรัฐบาลขู่ว่าจะถูกถอนสัญชาติไทย ในเวลานั้น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคนไทยรักชาติได้ก่อตั้งคณะเสรีไทยในอังกฤษและพากันสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษถึง 36 คน
คุณทศ พันธุมเสน เสรีไทยคนหนึ่งเล่าว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประกาศเป็นอาสากล้าตายคนแรก ต่อที่ประชุมอย่างกล้าหาญ ในการประชุมคณะเสรีไทยในอังกฤษเพื่อส่งคนเข้ามาติดต่อกับขบวนการเสรีไทยในประเทศ
ในบทความชื่อ “ ทหารชั่วคราว ” ดร.ป๋วย อธิบายว่าที่อาสาทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะทราบดีว่า นายปรีดี พนมยงค์ ( รู้ธ ) เป็นหัวหน้าคณะเสรีไทย ในฐานะที่จบและเคยทำงานที่มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ เรียนจบปริญญาเอก และได้รับโทรเลขต้อนรับจาก นายปรีดี ว่าเขาเป็นคนที่ “ ควรได้ รับความสะดวกที่จะให้ความไว้วางใจและไม่ต้องสอบสวนยืดยาว ”
การลักลอบเข้าประเทศไทยโดยลงเรือดำน้ำจากศรีลังกาเข้ามากบดานแถวชายทะเลประจวบคีรีขันธ์ ประสบความล้มเหลว เพราะติดต่อสื่อสารกันไม่ได้
นายเข้ม เย็นยิ่ง พร้อมเสรีไทยอีกสองคนคือ นายประทาน เปรมกมล และ นายสำราญ วรรณพฤกษ์ จึงเข้ามาอีกครั้งทางเครื่องบินจากอินเดีย โดยกระโดดร่มมาลงที่ จ.ชัยนาท เมื่อ 6 มีนาคม 2487
ชาวบ้านนั่งเกวียนย่ำทุ่งลัดแนวป่ามาทางหนองหมอ บริเวณบ้านวังน้ำขาว เมื่อพบว่ามีทหารกระโดดร่มชูชีพมาหลบอยู่ในป่าชายทุ่งจึงแจ้งเจ้าหน้าที่
เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ร้องให้ชาวบ้านจับตัวทหารคนนั้น โดยบอกว่า เขาเป็นสายลับข้าศึกเป็นจารชน
ดร.ป๋วย เล่าว่า “ คิดถึงคู่รักของข้าพเจ้าที่ลอนดอน คิดถึงคำสุดท้ายของ คุณมณี สาณะเสน ที่ได้กล่าวกับข้าพเจ้าเมื่อก่อนเราเดินทางออกจากอังกฤษ คิดถึงเพื่อนข้าพเจ้าที่ยังอยู่ในอินเดีย คิดถึงเพื่อนสองคนที่อยู่ในพุ่มไม้ใกล้เคียง คิดถึงญาติมิตรที่อยู่กรุงเทพฯ คิดถึงสาส์นจากกองบัญชาการถึง “รู้ธ” ที่ยังอยู่ในกระเป๋าของข้าพเจ้า และคิดถึงยาพิษ ยังอยู่ในกระเป๋าหน้าอกของข้าพเจ้า หรือจะยอมให้จับเป็น ให้เขาจับตายเถิด เพราะความลับที่ข้าพเจ้านำมานั้นมีมากเหลือเกิน….. แต่เห็นแล้วว่าญี่ปุ่นไม่มีอยู่ในหมู่คนที่จะมาจับข้าพเจ้า อย่ากระนั้นเลย เมื่อปะเสือ ก็ยอมสู้ตายเลย ให้เขาจับเป็นดีกว่า อย่าเพิ่งตายเลย ” ( สารคดี ฉบับ 202 / 2544 )
ระดม สรรพพันธุ์ เขียนบันทึกเรื่อง “ พบลุงบุญธรรม ปานแก้ว ผู้ช่วยชีวิต ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ” ว่า “ ทหารคนนั้น ( ดร.ป๋วย ) โบกมือให้กับพวกเรา (ชาวบ้าน) พร้อมกับร้องเรียกว่า เข้ามาเถอะครับ ผมไม่สู้หรอก กับคนไทย แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่น ผมสู้ครับ
ชาวบ้านกรูกันเข้าไปจับตัวทหารคนนั้นไว้ แล้วซ้อม ชก ต่อย แล้วเตะอย่างไม่ปรานีปราศรัย แม้ทหารคนนั้นจะร้องขอและบอกว่าเขาเป็นใคร สังกัดไหน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านแต่อย่างใด เท่านั้นยังไม่พอ ชาวบ้านก็ผลักเข้าไปในกกไม้ที่เต็มไปด้วยหนาม โดยมีเจ้าหน้าที่เอาปืนจ่อข้างหลัง แล้วขึ้นนกเตรียมลั่นไกยิงทหารคนนั้น
ทันใดนั้นผม ( ลุงบุญธรรม ) วิ่งปรู๊ดเข้าไปขวางไว้ แล้วผลักกระบอกปืนออกไปพร้อมกับบอกว่า ช้าก่อนครับ……. เวลานี้บ้านเมืองเรากำลังคับขัน เราจับข้าศึกได้แล้ว เขาจะเป็นใครมาจากไหน จะดีจะชั่วอย่างไร ก็ต้องจับตัวส่งไปให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปไต่สวนกันก่อน ท่านจะจัดการเสียเองโดยลำพัง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ทหารคนนั้นบอก ฆ่าผมเถอะครับ ผมมานี่กู้ชาติ เวลานี้บ้านเมืองเราเป็นขี้ข้าเขาหมดแล้ว ผมตายช่างมัน ยิงผมเถอะ แหม……. รักน้ำใจจังเลย ”
นายอำเภอขี่ม้านำชาวบ้านหลายร้อยคน เป็นขบวนใหญ่ ไล่ชาวบ้านทุกคนให้ห่างจารชนใจโหดเหี้ยม ซึ่งถูกจับมัดมือไพล่หลังนั่งบนเกวียนจากป่าเข้าเมือง เป็นนักโทษที่จะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน
ดร.ป๋วย ถูกมัดมือไพล่หลัง และถูกโซ่ล่ามข้อเท้าไว้กับเสากลาง ศาลาวัดวังน้ำขาว
ตอนบ่ายวันนั้น เจ้าหน้าที่คุมตัวบางคนม่อยหลับไป ชาวบ้านจึงกระเถิบเข้ามาใกล้ ดร.ป๋วย เขียนในข้อเขียน “ ทหารชั่วคราว ” ว่า “ ในหมู่ชาวบ้านหน้าซื่อเหล่านี้มีหญิงผู้หนึ่งอายุค่อนข้างมาก ข้าพเจ้าสังเกตว่าแกนั่งใกล้ข้าพเจ้าอยู่นานถึงสองชั่วโมงไม่ไปไหน และนั่งเอามือกอดเข่า เมื่อคนที่มาดูข้าพเจ้าค่อยบางตาไปบ้างแล้ว ผู้หญิงผู้นั้นก็พูดกับข้าพเจ้าเสียงแปร่งๆว่า “ พุทโธ่ ! หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า ” ข้าพเจ้าถามว่า ลูกป้าอยู่ที่ไหน ได้รับคำตอบว่า ถูกเกณฑ์ทหารไปนานแล้ว ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน
เสียงอันเยือกเย็นซึ่งแสดงถึงน้ำใจของหญิงผู้นี้ทำให้ข้าพเจ้าตื้นตันและรู้สึกว่าได้มีรสหวานอันเป็นรสแห่งความรักของมารดาห้อมอยู่ในศาลานั้น ”
ชาวบ้านหลายหมู่บ้านพากันมาดูหน้าจารชนหรือคนรักชาติที่ศาลาแห่งนั้น บางคนอยากให้เขาอยู่ บางคนอยากให้เขาตาย คล้ายกับมีเทพและปีศาจอยู่ในร่างเดียวกัน
คนหนึ่งแอบส่งว่านให้ แล้วกระซิบว่า
“ อมๆไว้ ดูหน้าผากแล้ว ไม่ตาย ”
ดร.ป๋วย ถูกล่ามโซ่ข้อเท้า เคลื่อนจากบ้านวังน้ำขาวรอนแรมไปถูกขังที่ สภ.อ. วัดสิงห์ แล้วย้ายไปขังที่ สภ.อ.ชัยนาท ไปถูกขังต่อที่เรือนจำ จ.ชัยนาท แล้วถูกนำลงเรือยนต์ไปขึ้นที่ท่าช้าง นำตัวไปขังที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลร่วมกับเสรีไทยคนอื่นๆ
ระหว่างนี้เอง ร.ต.อ. โพยม จันทะรัคคะ ธ.บ. ได้เสี่ยงตายลอบพา ดร.ป๋วย ไปพบกับ อาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการ ม.ธ.ก. ในเวลานั้น เชื่อมโยงไปสู่การพบปะกันระหว่าง ดร.ป๋วย กับ ดร.ปรีดี พนมยงค์(รู้ธ) ที่บ้านบางเขนของ อ.วิจิตร เพื่อเสนอสาส์นจาก ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน ผู้บัญชาการสูงสุดของสหประชาชาติต่อหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ภารกิจสื่อสารบรรลุผล ดร.ป๋วย ส่งสัญญาณวิทยุไปยังกองทัพอังกฤษที่อินเดียเป็นผลสำเร็จ ทำให้หน่วยทหารจากอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติการในแผ่นดินไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น
เมื่อใกล้สิ้นสุดสงครามโลก “ รู้ธ ” ได้ส่ง “ นายเข้ม เย็นยิ่ง ” (ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ) กลับไปอังกฤษอีกครั้ง เพื่อเจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้ยอมรับขบวนการเสรีไทยว่าเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย นำไปสู่การทำให้ประเทศไทยพ้นจากภาวะประเทศผู้แพ้สงคราม และยังเป็นผู้เจรจาขอให้อังกฤษยอมปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้
อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญมาก ดร.ป๋วย ได้รับคำสั่งจาก ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทย ให้เป็นผู้ติดต่อกับกองทัพอากาศอังกฤษ ขอร้องไม่ให้ทิ้งระเบิดใส่บริเวณพระบรมมหาราชวัง รวมถึงบริเวณวังอื่นๆด้วย
รัฐสภาอังกฤษ ปรับไทยที่ประกาศสงครามเข้าข้างญี่ปุ่นโดยให้ปรับเป็นข้าว 1.5 ล้านตัน นายเข้ม เย็นยิ่ง แต่งชุดนายพันทหารอังกฤษร่วมเจรจาต่อรองไม่ให้ปรับเป็นข้าวแต่ขอเป็นการแลกเปลี่ยน
ข้าวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ยารักษาโรค และยังขอให้อังกฤษช่วยจ่ายค่าข้าวบ้าง
หากไม่มีบุคคลอย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีความรักชาติ ซื่อสัตย์ และกล้าหาญ โดยปราศจากเงื่อนไข หากไม่มีรัฐบุรุษอย่าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ แผ่นดินไทยจะรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้อย่างไรกัน
—–
ติดตามงานเขียนได้ที่ Facebook Page : PRASARN MARUKPITAK PAGE