มีใครบ้างที่เชื่อว่า คุณทักษิณ ชินวัตร ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่แทรกแซง ไม่มีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทยตามที่เจ้าตัวประกาศ
มีใครบ้างที่เชื่อว่า นาฬิกาหรู 25 เรือนนั้น เจ้าตัว “ ยืมเพื่อน ” มาใส่
มีใครบ้างที่เชื่อว่า เจ้าสัวบริษัทก่อสร้างใหญ่เข้าไปที่ทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกเพื่อไปทัศนศึกษาไม่ใช่ไปล่าสัตว์
มีใครบ้างที่เชื่อว่า อดีต ผบ.ตร. ยืมเงินเจ้าของ วิคตอเรีย ซีเครท โดยไม่รู้ว่าผู้ให้ยืมได้เงินมาจากไหน
มีใครบ้างที่เชื่อว่า ตำแหน่งสำคัญของวงการตำรวจ เช่นตำแหน่งผู้กำกับ ตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัด คนที่ครองตำแหน่งล้วนแล้วแต่ได้รับตำแหน่งมาด้วยคุณธรรม ความสามารถ ไม่ใช่ได้มาด้วยการวิ่งเต้นจ่ายเงินมากน้อยตามลำดับความสำคัญของตำแหน่ง
มีข้อคิดว่า “ สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง สิ่งที่พูดนั้น ไม่ใช่ ”
ผู้คนรับรู้ว่า บรรดาอดีต ส.ส. อดีตกรรมการพรรคเพื่อไทยบินไปหา นักโทษหนีอาญาแผ่นดินกันขวักไขว่ ทั้งที่ดูไบ ที่ฮ่องกง ที่สิงคโปร์ ที่จีน พวกเขาไปทำอะไรกัน ไปเพื่อเสนอนายให้รู้ว่า “ ผมยังอยู่กับนายนะ ” ไปเพื่อบอกกล่าวว่า “ อย่าทิ้งผมนะ ” ไปเพื่อจะสอบถามว่า “ ตกลงท่านจะให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคกันแน่ ” ไปเพื่อให้คนเป็นนายรับรู้ว่า “ ผมไม่ได้หนีไปไหน ” ไปเพื่อขอฟังการชี้แนะว่า “ พรรคเราจะเดินหน้าต่อไปยังไงดี ” ไปเพื่อที่จะประเมินว่าท่อน้ำเลี้ยงยังมีอยู่ และน้ำจะไหลลื่นหรือไหลกะปริด- กะปรอย จะมีใครสักคนไหมที่ไปเพื่อบอกว่า “ ท่านครับ ป๋าเหนาะฝันว่าท่านจะได้กลับประเทศไทย ดังนั้นทำความฝันของป๋าเหนาะ ให้เป็นจริงเสียทีเถอะ คือกลับเมืองไทยไปรับอาญาแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาล ”
ผู้คนรับรู้ว่า คนระดับรองนายกรัฐมนตรีสวมใส่นาฬิกาหรู 25 เรือน แต่ไม่เชื่อว่ายืมเพื่อนมาใส่ เพราะคนระดับนี้จะอับจนถึงขนาดต้องยืมนาฬิกาเพื่อนเชียวหรือ ยืมเพื่อนสักเรือนสองเรือนยังพออนุโลม แต่ยืมถึง 25 เรือนนี่สุดจะรับได้ แถมบอกว่าเพื่อนที่ให้ยืมตายไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้ข้ออ้างเรื่องการยืมเพื่อนกลายเป็นเรื่องเชื่อไม่ได้
ผู้คนรับรู้ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไปจับได้คาหนังคาเขา ทั้งซากเสือดำ ซากไก่ฟ้า อาวุธ กระสุน และเครื่องครัวเพื่อปรุงอาหาร ต่อให้เจ้าตัวอมพระทั้งวัดมาพูดก็ไม่มีใครเชื่อว่า “ เข้าป่าเพื่อไปทัศนศึกษา ”
แม้เรื่องตำแหน่งสำคัญในวงการตำรวจที่ซื้อขายกันโจ๋งครึ่มตำแหน่งละ 20-50 ล้านบาท แถมยังต้องจ่ายเป็นรายเดือนอีกมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อันเป็นแหล่งโลกีย์ทั้งหลาย เช่น บางรัก ห้วยขวาง สุทธิสาร พัทยา เป็นต้น
ความจริงกับวาทกรรม จึงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
คนที่ทำผิดพลาดนั้น ขณะที่ทำเขาคิดว่าคนอื่นไม่รู้ จึงกล้าทำ ครั้นพอมีคนจับได้ไล่ทัน เขาจะปฏิเสธ ด้วยการเฉไฉไปทางอื่น หากพยานแวดล้อมยืนยัน เขาก็จะรับบางส่วน เพื่อไม่ต้องรับโทษเต็มๆ ถ้ามีกำลังทางการเงินเพียงพอ เขาอาจปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง แล้วเอาตัวเองไปไกลให้พ้นเงื้อมมือของกฎหมาย
โชคดีที่เมืองไทยวันนี้ มีการสื่อสารผ่านมือถือ ที่สามารถเอกซเรย์พฤติกรรมบุคคลได้ด้วยการถ่ายรูป บันทึกเสียง เผยแพร่ได้ฉับพลัน ทำให้วาทกรรมแก้ตัวทั้งหลาย ไม่มีคนเชื่อ
มีบทเรียนมากต่อมาก ที่ชี้ให้เห็นว่า “ มาตรฐานแต่เพียงประการเดียวที่จะวัดความเป็นจริงได้ คือการปฏิบัติไม่ใช่การพูด ”
ถึงกระนั้นก็ยังมีวาทกรรมโกหกหลอกลวงปลิ้นปล้อนปรากฏให้เห็นมากมายจนกลายเป็นความคุ้นชินอย่างหนึ่งของสังคมไทย
ติดตามงานเขียนได้ที่ Facebook Page : PRASARN MARUKPITAK