เหตุเกิดเมื่อคืนนี้
เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์เย็นวันอบรมหลักสูตรผู้บริหารของสถาบันแห่งหนึ่ง ซึ่งเพิ่งจะพบและร่วมเรียนกัน 4 บ่าย (สี่สัปดาห์) ได้เวลาที่จะสรรหาประธานรุ่น เพื่อเป็นตัวแทนทำหน้าที่ ดำเนินกิจกรรมของรุ่นต่อไป
สุธี เพื่อนที่เอางานเอาการของรุ่นมาขอร้องผู้เขียนในฐานะผู้อาวุโสและคงคิดว่าน่าจะพูดจาเป็นหลักเป็นฐานได้กับกลุ่มเพื่อนๆ โดยเขาชี้แจงว่า “ ตอนนี้พวกเราคุยกันหมดแล้ว ตกลงว่าจะให้พี่สุทัศน์ (นามสมมุติ) เป็นประธานรุ่น ไม่มีใครขัดข้อง โดยจะมีพี่สุธาและพี่สุนทร( นามสมมุติ) เป็นรองประธานรุ่น อาจารย์ช่วยพูดชี้แจงผ่านไมโครโฟน แล้วเชิญพี่สมทบและพี่สมพร ผู้อาวุโสทั้งสองคนขึ้นไปประกาศว่าพวกเราทั้งหมดเห็นชอบให้พี่สุทัศน์ เป็นประธานรุ่น แล้วพวกเราทั้งหมดจะตบมือรับรองตามนี้ ”
ผู้เขียนเป็นคนใจง่ายจึงรับปากด้วยดี แต่พอมีจังหวะก็หันไปหารือกับเพื่อนอีกคนที่นั่งโต๊ะเดียวกันว่า “ ทำเช่นนี้จะเหมาะไหม ” เพื่อนคนนี้บอกว่า
“ ตอนนี้มีเพื่อนกลับบ้านไปบ้างแล้ว เหลือเพื่อนอยู่ไม่ถึงครึ่ง คนที่กลับไปก่อนจะคิดหรือเปล่าว่าเรามารวบหัวรวบหางกันโดย คนที่ไม่อยู่เขาไม่รับรู้ด้วย เดี๋ยวจะผิดใจกันมั้ย ไม่จำเป็นต้องรีบเลือก เอาไว้ขอเวลาเลือกกันในห้องอบรมจะดีกว่ามั้ง ”
จะทำอย่างไรดีในเมื่อด้านหนึ่งก็รับปากกับสุธีไว้แล้ว ว่าจะทำหน้าที่เกริ่นนำให้ อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงทักท้วงว่าคงไม่เหมาะ เพราะเป็นคนจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่เหลืออยู่
พอถึงเวลาขึ้นเวที ผู้เขียนจับไมโครโฟนแล้วพูดว่า
“ การเลือกหรือรับรองประธานรุ่นที่ผมได้รับมอบจากเพื่อนให้มาทำหน้าที่เกริ่นนำนี้ มีสองความเห็น
ความเห็นหนึ่ง บอกว่าไหนๆเพื่อนๆก็มากันพอสมควรแล้ว เรามาเลือกหรือรับรองประธานรุ่นกันตอนนี้เลย จะได้เริ่มทำงานกันได้
อีกความเห็นหนึ่ง บอกว่า ตอนนี้เหลือเพื่อนๆอยู่กันที่นี่ไม่ถึงครึ่ง เรารอไว้ไปเลือกกันในห้องเรียนจะดีกว่า
ถ้าเช่นนั้น ผมขอให้ยกมือเลือกว่า จะเลือกเดี๋ยวนี้หรือไปเลือกในห้องเรียน ”
ปรากฏว่าคะแนนเสียงก้ำกึ่งกัน ผู้เขียนจึงสรุปว่า
“ เพื่อให้ผู้เป็นประธานรุ่นได้รับความเห็นชอบจากเพื่อนด้วยจำนวนที่มากกว่านี้ คนได้รับเลือกก็จะมีความภาคภูมิใจด้วย ที่มีความชอบธรรมมากกว่าในการทำหน้าที่ประธานรุ่น เพื่อนๆที่ไม่อยู่ในที่นี้จะได้มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนของเขาด้วย ดังนั้นผมขอให้การเลือกประธานรุ่น ไปจัดทำกันในห้องอบรมในการเรียนครั้งต่อไป จะดีไหม ”
ปรากฏว่าทุกคนปรบมือต้อนรับบทสรุปของผู้เขียนด้วยรอยยิ้มกันทั่วหน้า
นี่คือแนวทางการตัดสินใจที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า
หลังจากนั้น หลายคนบอกกับผู้เขียนว่า “ ถ้าขืนเลือกกันวันนี้ เกิดรอยร้าวในรุ่นแน่ๆ” บ้างก็บอกว่า “ จำนวนกว่าครึ่งห้องที่เขาไม่รู้เรื่องด้วย ไม่จำเป็นต้องเลือกกันวันนี้” บ้างก็พูดว่า “ เป็นการหาทางออกที่ดี ผมคิดอยู่เหมือนกันว่า มันไม่เหมาะ ตอนที่มีคนมาล็อบบี้ผมให้เลือกกันวันนี้ ”
เหตุการณ์จบลงด้วยดี โดยมีแง่คิดว่า
- สถานการณ์เฉพาะหน้า ที่เป็นความเห็นรวมๆจากการเห็นชอบไปแบบหยวนๆ เราไม่จำเป็นต้องไปเออออด้วย
- ลองคิดอีกครั้งว่า วิธีไหนจะดีกว่า ที่ไม่ขัดข้องใจใคร และเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า
- ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง เพราะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ถ้าไม่ได้เลือกกันในเวลานั้น
- มีบรรยากาศสามัคคีธรรมดีกว่า เมื่อได้ทำเช่นนี้
นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งว่า การ “ คิดอีกครั้ง ” ช่วยให้เรามีสติและทำอะไรลงไปในทิศทางที่ดูดีมากกว่า