ก่อนหน้านี้ปีเศษ ลูกคนเล็กที่แต่งงานแล้วไปซื้อบ้านไว้ในซอยแถวสุขุมวิท 62
เนื่องจากพ่อแม่ มีบ้านอยู่ในโครงการเดียวกันกับครอบครัวของลูกชายคนโตแถวๆ ซอยอ่อนนุช 80 จึงชักชวนครอบครัวของลูกคนเล็กว่า “ขายบ้านเก่าที่สุขุมวิท 62 แล้วมาซื้อบ้านในโครงการเดียวกันกับที่พ่อแม่และครอบครัวของลูกชายคนโตอยู่เถอะ พ่อกับแม่จะได้ไปมาหาสู่แวะเวียนไปเยี่ยมเยือนลูกหลานได้โดยสะดวก”
ลูกชายคนเล็กปฏิบัติตามคำร้องขอด้วยดี ขณะนี้ผู้เขียน มี 3 ครอบครัวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน โดยมีระยะห่างเพียงขี่จักรยาน 3-5 นาทีถึง หรือเดินประมาณ 4-7 นาทีถึง
คนเป็นปู่ย่าจึงได้ไปอุ้มหลาน 3 คนที่บ้านลูกทั้งสองหลังได้เกือบทุกวัน
เล่าให้เพื่อนฟัง ก็มักได้รับคำอิจฉาจากเพื่อนๆ ที่ได้ใกล้ชิดหลานมากกว่า
อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าได้รับเชิญไปพูดหรือบรรยายที่ไหน ผู้เขียนจะสอบถามถึงขนาดของห้อง จำนวนผู้ฟังและเก้าอี้ที่เตรียมรองรับผู้ฟังว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ถ้าตั้งเก้าอี้ไว้ 200 ตัว แต่มีผู้ฟังเพียง 30 คน ผู้เขียนจะร้องขอทันทีว่า ขอใช้ห้องที่เล็กกว่า หรือให้วางเก้าอี้ เพียงพอดีกับจำนวนผู้ฟัง และอย่าวางเก้าอี้ให้ห่างกัน เพื่อให้ผู้ฟังนั่งอย่างกระชับพื้นที่
วิทยากรที่ไม่เข้าใจ จะไม่สนใจว่าระยะห่างของผู้ฟังมีผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้มาก ถ้าห้องประชุมมีที่นั่งจุคนได้ 500 คน แต่มีคนมาฟังเพียง 50 คน เขาจะนั่งกันอย่างกระจัดกระจายเป็นกลุ่มๆละ 3 คน หรือ 5 คน เป็นกลุ่มคนที่รู้จักกัน
กลุ่มที่อยู่ห่างออกไปจะหลุดไปจากปริมณฑลแห่งการเรียนรู้ ในขณะที่ผู้เขียนในฐานะผู้สอนมีหน้าที่ให้ทุกคนได้ร่วมกันเรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน และมีอารมณ์ร่วมตลอดช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ในชั่วโมงนั้นๆ
การนั่งใกล้กันในพื้นที่กระชับ ทำให้ทุกคนสามารถจะส่งต่อความรู้สึกระหว่างกันได้ เมื่อคนหนึ่งหัวเราะ เสียงหัวเราะจะไปกระเทือนคนนั่งใกล้ให้ร่วมหัวเราะด้วย การนั่งห่างกันของผู้ฟังทำให้อารมณ์ร่วมเกิดขึ้นได้ยากที่จะเฮฮาเมื่อสนุก หรือปรบมือเมื่อถูกใจ
ระยะห่างเป็นสิ่งที่ดูไม่สำคัญ แต่ความจริงสำคัญยิ่ง
หากผู้เขียนอยู่บ้านที่ห่างไกลกับบ้านลูกหลาน ประเภทขับรถ 2 ชั่วโมงถึง เพียงนึกภาพว่าจะต้องฝ่ารถติดก็ท้อเสียแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นปีหนึ่งคงเห็นหน้าหลานได้ไม่กี่ครั้ง เจอหน้ากันแต่ละครั้งหลานคงคิดในใจว่า “ ตาแก่คนนี้เป็นใคร ” เพราะจำไม่ได้แล้ว
ถ้าผู้เขียนไม่บริหารจัดการพื้นแห่งการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรมหรือผู้ฟังให้กระชับอยู่ในบริเวณเดียวกัน นั่นก็จะเป็นชั่วโมงแห่งการเรียนรู้ที่ล้มเหลว
ความสำคัญของการจัดพื้นที่ให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเป็นเครื่องหมายบ่งบอกอย่างหนึ่งของความสันทัดจัดเจน ในการดำเนินชีวิต
ติดตามงานเขียนได้ที่ Facebook Page : PRASARN MARUKPITAK