ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 บนพระยานมาศสามลำคาน เราได้เห็นภาพนายแพทย์ 2 คน ทำหน้าที่ประคองพระบรมโกศไปตลอดทาง จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง หนึ่งคนนั้นเป็นบุคคลเดียวกันกับที่เราเห็นว่าเป็นผู้เข็นพระเก้าอี้เลื่อนของในหลวง ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ขณะที่ทรงประชวร
หนึ่งคนนั้นคือ อาจารย์ นพ. ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน เป็นอาจารย์ด้านหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลังจากเรียนจบแพทย์แล้ว อาจารย์ได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกลาสโกลว์ สก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ชั้นนำของโลก โอกาสเปิดให้อาจารย์ได้รับทุนเรียนต่อเฉพาะทางด้านหัวใจ แต่ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี อาจารย์รู้สึกว่าเวลานานไปและหัวใจของตนแนบแน่นกับคุณแม่ซึ่งมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว และสุขภาพไม่ค่อยดี จึงเลือกกลับมาอยู่ใกล้ชิดกับคุณแม่ แทนการรับทุนเรียนต่อ
ต่อมาอาจารย์ได้ตอบรับอีกทุนหนึ่งที่ใช้เวลาเพียงปีครึ่ง ไปเรียนสาขาเฉพาะทางการทำหัตถการปฏิบัติสายสวนโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ Green Lane Hospital ประเทศนิวซีแลนด์
จบจากที่นั่น กลับมาเมืองไทยเมื่อ พฤศจิกายน 2537 ช่วงนั้นในหลวงทรงมีปัญหาเกี่ยวกับพระหทัย แพทย์ประจำพระองค์กำลังเสาะหาว่ามีโรงพยาบาลใดเหมาะสมที่จะรักษาพระอาการ ปรากฎว่า อาจารย์ นพ. ประดิษฐ์ เป็นคนนำเสนอข้อมูลและกระบวนการของศิริราช ทำให้ รพ.ศิริราชได้รับเลือก
หลังจากทำงานรับใช้ในหลวงได้ 6 เดือน ก็มีพระบรมราชโองการให้อาจารย์เป็นแพทย์เวรประจำพระองค์ ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา
อาจารย์ นพ.ประดิษฐ์ บอกว่า “ ในชีวิตหนึ่ง เมื่อคุณมีโอกาสเลือก ต้องเลือกให้ดี………” และได้สรุปว่า “ โอกาสสูงสุดที่มาถึง ไม่ได้มาเพราะความบังเอิญ หากแต่ได้มาเพราะความกตัญญู ” ( อ้างอิง ทีนิวส์ 2017-09-20 )
ลองนึกดูเถิดว่า หากวันนั้น อาจารย์เลือกรับทุนเรียนต่ออีก 5 ปี ที่สก็อตแลนด์ ก็จะไม่มีโอกาสถวายงานทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และได้เข็นพระเก้าอี้เลื่อน อันเป็นที่สุดแห่งชีวิต รวม 21 ปี
กตัญญูกตเวทิตาธรรม นำสู่ผลอันเป็นมิ่งมงคลของชีวิตอย่างคาดไม่ถึง
ติดตามงานเขียนได้ที่ Facebook Page : PRASARN MARUKPITAK