ใช่หรือไม่ว่า บ่อยครั้งบุคคลและวัตถุปัจจัยภายนอกกลายเป็นผู้บัญชาการอารมณ์อันควรสงบของเรา
เราขับรถบนถนนด้วยอัตราความเร็วปกติ แต่กลับโดนรถคันหลังบีบแตรไล่เรา อารมณ์หงุดหงิดเกิดขึ้นในหัวใจของเราแล้ว
เพื่อนขอให้เราช่วยเหลือเขาในบางเรื่อง เราช่วยได้เพียงครึ่งเดียวของคำขอร้อง เพื่อนกลับด่าเราลับหลัง หาว่าเราใจดำช่วยเขาไม่เต็มที่ พอรู้เช่นนั้น โทสะจริตเกิดขึ้นในใจเราแล้ว
เราสั่งงานลูกน้องอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แถมทบทวนซ้ำให้แน่ใจ ลูกน้องยังทำงานพลาด ให้เราต้องเสียเวลาแก้ไขอีก เราหัวเสียอีกแล้ว
กลายเป็นว่าคนอื่นมากำหนดอารมณ์เรา ทั้งๆที่แม้เผชิญเหตุการณ์เช่นนั้น เราสามารถจะสงบเย็น ไม่ต้องมีอารมณ์ไหลตามความไม่พอใจนั้นๆได้
“ทฤษฎีแมลงสาบ” ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า
ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง แมลงสาบตัวหนึ่งออกมาจากซอกมุม แล้วบินมาเกาะที่แขนเสื้อของผู้หญิงคนหนึ่ง เธอกรีดร้องพร้อมกับกระโดดไปมา แล้วสลัดแขน แมลงสาบยังเกาะอยู่ที่แขนเสื้อตามเดิม เธอยิ่ง ทำเอาคนร่วมโต๊ะแตกตื่น และแล้วแมลงสาบตัวนั้นก็บินไปเกาะที่หัวไหล่ผู้หญิงอีกคนในโต๊ะเดียวกันนั้นเอง ผู้หญิงคนนี้กระโดดไปมา ส่งเสียงดังแบบคนแรก ทำให้ผู้คนในโต๊ะลุกขึ้นยืนอย่างไม่เป็นสุข
เด็กเสิร์ฟเห็นเช่นนั้น ก็เข้ามาจะหาทางแก้ปัญหา เจ้าแมลงสาบตัวนั้นบินมาเกาะที่ผ้ากันเปื้อนของเขา แทนที่จะสะบัดผ้า เขายืนนิ่งสังเกตการเคลื่อนตัวของแมลงสาบที่ค่อยๆเดินขึ้นมาบนเสื้อของเขา แล้วเขาเอามือตะปบแมลงสาบ เดินไปหลังร้านแล้วขว้างมันทิ้งไป
คำถามของเรื่องนี้ก็คือ เจ้าแมลงสาบเป็นสาเหตุของความแตกตื่นหรือเปล่า ถ้าตอบว่าใช่ แล้วทำไมเด็กเสิร์ฟจึงยืนสงบนิ่ง แล้วค่อยๆจัดการกับแมลงสาบตัวนั้นอย่างละมุนละม่อม ในขณะที่ผู้หญิงสองคนอกสั่นขวัญแขวนเต้นแร้งเต้นกาอย่างโกลาหล
ก็แปลว่า แม้มีเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็นเหตุให้หัวใจเราไม่สงบ แต่เราสามารถสงบใจได้หากมีความสามารถในการรับมือกับมัน เนื่องเพราะเราต่างหากที่เป็นคนเลือก เราเลือกขวัญผวาแทนที่จะเลือกความสงบเย็น
อาจใช้คำภาษาอังกฤษสองคำมาเทียบเคียง คือการ React หรือ Respond
React เป็นการโต้ตอบที่อาศัยสัญชาตญาณ
ขณะที่ Respond เป็นการรับมือ ที่อาศัยการใคร่ครวญไตร่ตรอง เพื่อควบคุมสถานการณ์ ให้อยู่ในสภาพที่สามารถจะควบคุมได้ หลีกไปจากการตัดสินใจผิดพลาดที่อยู่ใต้อิทธิพลของความโกรธ ความเครียด ความหม่นหมอง กังวลหรือเร่งรีบ ที่ไม่เป็นผลดีแก่ใคร
“ทฤษฎีแมลงสาบ” (อ้างอิง Mensxp) นี้ ซีอีโอคนใหม่ของกูเกิ้ล (Google) ยึดถือเป็นคู่มือในการพัฒนาตนเองตลอดมา
—–
ติดตามงานเขียนได้ที่ FACEBOOK : PRASARN MARUKPITAK