ขอแสดงความเห็นด้วยอย่างยิ่งกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาคดีได้ แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ปรากฏตัวต่อศาลก็ตาม
นี่ไม่ใช่การใช้ยาแรง แต่เป็นการใช้ยาที่ถูกโรคต่างหาก
เพราะการไม่ปรากฏตัวต่อศาล ไม่ใช่ความผิดของศาล ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นทางเลือกที่ผู้ถูกกล่าวหาตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง ศาลไม่ได้ไปตัดสิทธิปิดกั้นอะไรเลย
แท้ที่จริงผู้ถูกกล่าวหาต้องการจะหนีคำพิพากษาของศาลไปต่างประเทศหรือไปในที่ซึ่งหาตัวไม่ได้
ทำให้ศาลดำเนินคดีไม่ได้ และยังมีผลให้คดีขาดอายุความได้อีก
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ทั้งๆที่ไม่ได้ปรากฏตัวต่อศาล แต่คนที่หนีอาญาแผ่นดินยังสามารถใช้ทนายไปฟ้องร้องบุคคลในนามของเขาได้ แถมยังอุทธรณ์หรือฎีกาได้อีก
ผมเป็นคนที่ได้รับประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทโดยนักโทษหนีอาญาเมื่อปี 2551
นี่เป็นความอยุติธรรมทั้งสองทาง ทางแรกอาศัยฐานะมาทำให้ตนเองพ้นไปจากอาญาแผ่นดินอีกทางหนึ่งเอาเปรียบคู่กรณีไล่ฟ้องคนอื่นโดยไม่ต้องแสดงตัวต่อศาล
ดังนั้นจึงขอเสนอกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า โจทก์ในฐานะผู้ฟ้องคดี จะใช้เพียงทนายมาเล่นงานคู่กรณีไม่ได้ จะต้องแสดงตัวต่อศาลด้วย จึงจะยุติธรรมต่อคู่กรณี และมีความเป็นธรรมต่อสังคมไทย
ความมั่งมีหรือสถานะที่เหนือกว่าไม่ควรเป็นเหตุให้คนผิดลอยนวลอยู่เหนือกฏหมาย/
ติดตามงานเขียนได้ที่ FACEBOOK : PRASARN MARUKPITAK