30 องค์กรสื่อ ผนึกกำลังกันต่อต้าน ร่าง พรบ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
อย่างแข็งขัน ทำให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน จำต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาตามที่เป็นข่าว
เหตุที่การต่อต้านกลายเป็นกระแสสำคัญเพราะกรรมาธิการชุดดังกล่าวมีแนวคิดนำว่าสื่อมวลชนไทยไม่รับผิดชอบดังนั้นจึงต้อง”ควบคุม” แทนที่จะ”คุ้มครอง”ตามชื่อร่าง พรบ.
จึงกำหนดบทบัญญัติไปในทางวางกรอบกติกาและกฏเกณฑ์พะรุงพะรัง เช่นให้จดทะเบียน ให้มีบทลงโทษรุนแรง ให้มีคนภาครัฐเข้าเป็นกรรมการ ให้นิยามสื่อมวลชนแบบครอบจักรวาล
เป็นความจริงที่ว่าสื่อมวลชนไทยมีข้อบกพร่องหลายอย่าง ก็เหมือนองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม
แต่ต้องเข้าใจความเป็นจริงว่า
“เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นน้ำเนื้อเดียวกันกับเสรีภาพประชาชน” ถ้าสื่อมวลชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง ยิ่งปัจจุบันนี้สื่อดิจิตัลแพร่กระจายอย่างกว้างขวางจนประชาชนทุกคนที่ใช้สื่อออนไลน์ต่างก็เป็นสื่อด้วยตัวเองได้ ก็ยิ่งต้องพิจารณาให้รอบด้าน อีกอย่างหนึ่ง เสรีภาพของประชาชนก็ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแข็งขัน
ขอแสดงความเห็นด้วยว่าสื่อมวลชนต้องมีองค์กรรวมของตนเองที่สื่อทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยปลอดจากการแทรกแซงของภาครัฐเหมือนอย่าง สภาทนายความฯ แพทยสภา หรือวิศวกรรมสถานฯ กรรมาธิการฯที่นำร่างไปปรับปรุงตามมติของที่ประชุมใหญ่ สปท.ควรปรับเปลี่ยนวิธีคิด เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แทนที่จะควบคุม ปัญหาจะแก้ง่ายขึ้น
ในขณะเดียวกัน การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้สื่อมวลชนหันกลับมาส่องกระจกมองตนเองและยอมรับข้อบกพร่องของตนเองด้วย
จึงขอเสนอการปฏิรูปสื่อในสองประเด็นหลักคือ
1.ทำอย่างไรจะสามารถทำให้สื่อมวลชนสามารถควบคุมกันเองได้อย่างเป็นจริงในภาคปฏิบัติ
2.ทำอย่างไรจะทำให้สื่อมวลชนใช้เสรีภาพควบคู่กันไปกับความรับผิดชอบได้
ติดตามงานเขียนได้ที่ FACEBOOK : PRASARN MARUKPITAK