ในยุคที่ฮิตเล่อร์เรืองอำนาจ และสังหารคนยิวไปหลายล้านคนนั้น เราได้ยินชื่อชินด์เลอร์ ผู้ซึ่งทำทีเป็นตั้งโรงงานผลิตข้าวของเครื่องใช้ป้อนให้กองทหารนาซี โดยเอาชาวยิวมาเป็นคนงาน โดยการอำพรางเป้าหมายแท้จริงที่ต้องการรักษาชีวิตของคนยิวเหล่านั้นไว้อย่างเป็นผลสำเร็จ
ในอีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ของปี 1939 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเอง ชายชาวอังกฤษ ชื่อ นิโคลาส วินตัน (Nicholas Winton) ได้สร้างวีรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่ต้องบันทึกไว้
นิโคลาส วินตัน เอาชีวิตของตนเองเข้าแลกด้วยการช่วยเด็กชาวยิว 669 คน โดยหาทางป้องกันเด็กทั้งหมดให้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ระหว่างที่เด็กจำนวนนี้ถูกลำเลียงออกจากเชคโกสโลวาเกีย และทำได้เป็นผลสำเร็จ
นิโคลาส วินตัน ไม่เคยบอกใครเลยถึงวีรกรรมของเขา จนกระทั่งอีก 50 ปีต่อมา ภรรยาของเขาพบสมุดบันทึกเล่มใหญ่ภายในบ้าน ซึ่งในนั้นมีทั้งชื่อ นามสกุล และภาพถ่ายของเด็ก 669 คนนั้น
ในปี 1988 นิโคลาส วินตัน ปรากฏตัว ในรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ชื่อรายการว่า “นี่แหละชีวิต”(That ‘s life) โดยเขาได้รับเชิญพร้อมกับภรรยาให้เป็นผู้ชมรายการในห้องส่งออกอากาศ พิธีกรได้ประกาศวีรกรรมของเขา โดยเขาไม่รู้เลยว่าผู้ชมรายการในห้องส่งแถวที่นั่งถัดจากเขาไปจำนวนหลายร้อยคน ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เป็นหนี้บุญคุณรอดชีวิตได้เพราะความกล้าหาญและความเสียสละของเขา
ลองนึกภาพดูเถิดว่า ระหว่างคนๆหนึ่งที่ช่วยชีวิตกับคนหลายร้อยคนที่รอดชีวิตได้มาพบกันโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า จะเป็นภาพแห่งความสะเทือนใจอย่างไร
จะมีใครสักกี่คนที่สามารถกลั้นน้ำตาแห่งความปิติไว้ได้ นี่คือความงดงามของมนุษยธรรมภาคปฏิบัติ
ติดตามงานเขียนได้ที่ FACEBOOK : PRASARN MARUKPITAK
ติดต่องานบริการฝึกอบรมได้ที่หน้า TRAINING COURSES