ผู้เขียนพยายามนำเสนอให้เรื่องของการปฏิรูปประเทศไทย เป็นภารกิจของประชาชนไทยทั้งประเทศแทนที่จะเป็นหน้าที่รัฐบาล หรือ ค.ส.ช. หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (ส.ป.ท.) หรือ ป.ย.ป. เท่านั้นเพราะผู้เขียนเชื่อว่า เมล็ดพันธุ์แห่งศักยภาพและความดีงามมีอยู่ในเนื้อในตัวของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนขนาดไหน ไม่ว่าจะเรียนสูงต่ำเพียงไร ทุกคนสามารถจะแบ่งปันเหงื่อแรงให้แก่การปฏิรูปได้ทั้งนั้น
ที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือภารกิจการปฏิรูปยังจำกัดวงอยู่กับคนมีตำแหน่งในภาครัฐเป็นหลัก ประชาชนกลายเป็นคนวงนอก เป็นเพียงคนรอรับผลที่จะเกิดขึ้นจากฝีมือของคนภาครัฐ ทั้งๆที่ภารกิจการปฏิรูปนั้นมีความสลับซับซ้อน มีความยุ่งยาก และจะอาศัยแต่เพียงบุคคลหรือองค์กรภาครัฐเท่านั้น ไม่พอที่จะแบกรับปัญหาการปฏิรูปได้
ที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2550 นั้น สื่อยักษ์ใหญ่สำนักหนึ่งของอินเดีย ชื่อ THE TIMES OF INDIA ซึ่งมีทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ ได้ใช้โอกาสในวาระ 60 ปีแห่งการเป็นประเทศเอกราช เขาให้มีการรณรงค์ LEAD INDIA (อาจใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ทิศทางอินเดีย”) โดยให้มีการประกวดสุนทรพจน์ในขอบเขตทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ LEAD INDIA ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 25-45 ปี มีการถ่ายทอดผ่านสื่อในเครือทั้งหมด ทำให้ผู้คนทั้งประเทศพากันหยิบยกประเด็น ทิศทางของอินเดียในอนาคตมาเป็นประเด็นวิพากษ์ วิจารณ์ขนานใหญ่ การแข่งขันนำไปสู่การหาผู้ชนะเลิศจำนวนหนึ่ง และแล้วสิ่งที่สังคมอินเดียให้คุณค่าร่วมกันเป็นฉันทามติผ่าน LEAD INDIA คือสิ่งที่เรียกว่า Public Governance (ธรรมาภิบาลภาครัฐ) เป็นประเด็นติดอันดับแรกว่ามีความสำคัญสูงสุด นี่เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมของคนทั้งประเทศ เป็นการน้อมนำให้นักการเมืองที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งถือเป็นหัวใจในการรณรงค์เลือกตั้งและรับเป็นพันธะที่ตนเองต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นคนในภาคพลเมือง
LEAD INDIA กลายเป็นการรณรงค์ขนานใหญ่ ที่ถือเป็นการยกระดับจิตสำนึกคนอินเดียทั้งประเทศ กลายเป็นตัวอย่างที่คนทั่วโลกได้ศึกษา
รัฐบาลหรือ ค.ส.ช. จะน้อมใจต้อนรับน้ำพักน้ำแรงของประชาชน เพื่อให้การปฏิรูป เป็นพลังร่วมของคนทั้งประเทศ โดยศึกษาเรื่องการรณรงค์ LEAD INDIA เป็นแบบอย่าง จะทำให้การปฏิรูปเกิดผลที่เป็นจริงและจับต้องได้
ติดต่องานบริการฝึกอบรมได้ที่หน้า TRAINING COURSES
Like this:
Like Loading...
Related