คนเป็นผัวชื่อน้อย คนเป็นเมียชื่อนาง
น้อยกับนางแบกเสียมเดินเข้าไปในป่า เพื่อขุดหน่อไม้หาของป่าตามวิถีชีวิตชาวบ้านทั่วไป
ในป่านั้น มีทั้งเสือและหมี ณ ที่หนึ่งซึ่งเป็นทางเดินหักศอก น้อยกับนางเดินเผชิญหน้ากับหมีเข้าพอดี อาศัยที่แข็งแรงและว่องไวกว่า น้อยปีนต้นไม้อย่างรวดเร็วหนีหมีได้โดยปลอดภัย นางแบกด้ามเสียมอยู่หนีไม่ทัน หมีกระโดดเข้ามาตะปบ นางเอาเสียมเสียบเข้าที่หน้าอกหมีพอดี หมีดิ้นไปดิ้นมาแล้วขาดใจตายอยู่ตรงนั้น นางทิ้งเสียมลงพื้น ยืนตัวสั่นอยู่หน้าหมี ขณะที่น้อยผู้เป็นผัวตัวสั่นอยู่บนต้นไม้ด้วยความกลัวหมี แต่นางผู้เป็นเมียก็ตัวสั่นกลัวบาปกรรมที่ฆ่าสัตว์ใหญ่ตาย เพราะตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่นางสู้อุตส่าห์รักษาศีลสัตย์ ไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
“ฉันฆ่าหมีตาย ฉันฆ่าหมีตาย” นางพูดตำหนิตัวเอง
“อย่าพูดอย่างนั้นซิ แกมากับผู้ชายทั้งคน แกจะไปบอกว่า แกฆ่าหมีตายทั้งตัว ใครเขาจะเชื่อ แกต้องบอกว่า ข้าเป็นคนฆ่าหมีตาย คนเขาถึงจะเชื่อ แกรู้ไหม”
น้อยตะโกนลงมาจากต้นไม้ ด้วยสุ้มเสียงที่หวาดผวา
พอพากันกลับมาถึงหมู่บ้าน ผู้คนก็พูดกันให้แซดว่า “น้อยฆ่าหมี พ่อของเด็ก มันฆ่าหมีตาย”
นิทานโบราณ เรื่องน้อยฆ่าหมี ชี้ให้เห็นว่า สำหรับคนบางคนแล้วนอกจากขี้ขลาดตาขาว เอาตัวรอดอย่างเห็นแก่ตัวแล้ว ยังขโมยเอาวีรกรรมของคนอื่นมาเป็นผลงานของตัว โดยไม่อายใคร
ที่สำคัญผู้คนทั้งหลายก็พร้อมจะเชื่อและยอมตามการชักจูงของคนๆนั้น โดยไม่ตั้งคำถาม
ยิ่งในทุกวันนี้ เราอยู่ในสังคมแห่งข่าวสารที่จริงปนเท็จมากมายท่วมท้นผ่านสมาร์ทโฟน จนฟังและอ่านไม่ทันเช่นนี้ การ “เลือกแก่น ทิ้งกาก” หรือการ “เลือกที่จริง ทิ้งที่เท็จ” จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งนัก